กุมภาพันธ์ 23, 2023

Content Marketing คืออะไร? การตลาดที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ

Wittawat Asawasukhon

“คอนเทนต์” เป็นสิ่งที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวันทั้งในชีวิตจริงและบนโลกออนไลน์ แต่ใช่ว่าทุกๆ คอนเทนต์ที่พบเห็นนั้นเราจะให้ความสนใจหรือชื่นชอบไปทั้งหมด โดยปกติแล้วคนเรามักจะเลือกเสพหรือดูคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อหาความรู้ ซึ่งคอนเทนต์ที่เลือกเสพนั้น มักจะมีคุณค่าหรือมีความเชื่อมโยงกับความชอบของตัวเราเอง

หากมองในมุมของธุรกิจและการตลาด “คอนเทนต์” ถือเป็นเครื่องมือการตลาดที่สามารถช่วยธุรกิจในการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ดึงดูดผู้ที่คาดว่าจะเป็นลูกค้า รวมถึงรักษาลูกค้าให้กับธุรกิจอีกด้วย ดังนั้นในวันนี้ผมจึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับการตลาดเชิงเนื้อหา หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในชื่อเรียกว่า “Content Marketing” นั่นเอง ถ้าพร้อมแล้ว ไปลุยกันเลยครับ!

ทำความรู้จักกับ Content Marketing

“Content Marketing” คือการทำการตลาดที่เน้นการสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่มีคุณค่าต่อกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ โดยคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจโดยตรงเลยก็ได้ แต่จะเป็นการมุ่งเน้นที่จะสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่สนใจหรือชื่นชอบคอนเทนต์ให้เข้ามายังเว็บไซต์หรือช่องทางโซเชียลมีเดียของธุรกิจ และอาจนำไปสู่การเริ่มสนใจในสินค้าหรือบริการของธุรกิจได้อีกด้วย

ประเภทของการทำ Content Marketing

เราสามารถแบ่งประเภทของการทำ Content Marketing ออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ตามลักษณะและวัตถุประสงค์ ดังนี้ครับ

แบ่งตามลักษณะ (Type)

  • Single Image

รูปภาพที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นภาพประกอบเนื้อหาต่างๆ เช่น รูปภาพประกอบเนื้อหาบทความ หรือรูปภาพสินค้าที่ใช้โปรโมทบนเว็บไซต์ เป็นต้น

ตัวอย่าง Single Image จาก Friday Digital
                             ตัวอย่าง Single Image จาก Friday Digital
                                     ที่มา: facebook.com/frdgco
  • Photo Album

การรวมรูปภาพหลายๆ รูปเข้าด้วยกันในรูปแบบของอัลบั้ม โดยส่วนใหญ่มักจะใช้เพื่ออธิบายข้อมูลจำนวนมากๆ ออกมาในรูปแบบของรูปภาพหลายๆ รูป อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้นด้วย เช่น อัลบั้มรวมรูปสินค้ายอดขายดี หรืออัลบั้มรวมเทคนิคการยิงโฆษณา Facebook เป็นต้น

ตัวอย่าง Photo Album จาก Friday Digital 
                         ตัวอย่าง Photo Album จาก Friday Digital 
                                ที่มา: facebook.com/frdgco
  • Infographic

การนำข้อมูลที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมาแสดงในรูปแบบของกราฟิก โดย Infographic มักจะประกอบไปด้วยภาพ ตัวอักษร และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะที่สวยงามและข้อมูลที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มุ่งให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลให้เข้าใจง่ายและครบถ้วน

ตัวอย่าง Infographic จาก Friday Digital
                             ตัวอย่าง Infographic จาก Friday Digital
                                   ที่มา: facebook.com/frdgco
  • Video

คอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของคลิปวิดีโอ มักเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook, YouTube, TikTok และ IG โดยสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น วิดีโอแนะนำสินค้าหรือบริการ วิดีโอคลิปสั้นที่สร้างความบันเทิง หรือวิดีโอสื่อการสอนและการเรียนรู้ เป็นต้น

ตัวอย่าง Video บนแพลตฟอร์ม TikTok
                              ตัวอย่าง Video บนแพลตฟอร์ม TikTok
                                       ที่มา: droidsans.com
  • Live Streaming

Live Streaming หรือการไลฟ์สด เป็นรูปแบบของการทำคอนเทนต์ที่ผู้ทำการไลฟ์สามารถมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ชมได้อย่างเรียลไทม์ โดยมักมีการไลฟ์บนช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook, ,YouTube, TikTok และ IG 

ตัวอย่างการไลฟ์สด (Live Streaming)
                             ตัวอย่างการไลฟ์สด (Live Streaming)
                                        ที่มา: techsauce.co
  • Blog

คอนเทนต์ที่เขียนขึ้นเป็นบทความเพื่อให้ความรู้และแบ่งปันข้อมูลให้กับกลุ่มเป้าหมาย มักจะมีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ เนื้อหาส่วนใหญ่จะถูกแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ นอกจากนี้ บทความยังมักมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของข้อมูลและผู้เขียนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น บทความเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ บทความเกี่ยวกับวิธีการทำอาหาร หรือบทความเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงพืช เป็นต้น

ตัวอย่างบทความ (Blog) บนเว็บไซต์ Friday Digital
                      ตัวอย่างบทความ (Blog) บนเว็บไซต์ Friday Digital
         ที่มา: fridaydigital.co/blog/difference-between-seo-and-sem
  • Case Study

คอนเทนต์ที่มีการนำเรื่องราว เหตุการณ์ หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นในองค์กรหรือกิจกรรมทางธุรกิจมาเป็นกรณีศึกษาให้ได้เรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจอีกด้วย โดยคอนเทนต์แบบ Case Study จะประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ เช่น รายละเอียดขององค์กรหรือกิจกรรมทางธุรกิจ ข้อมูลเชิงสถิติ แนวทางการปฏิบัติ และอื่นๆ อีกมากมาย 

ตัวอย่าง Case Study จาก Friday Digital
                           ตัวอย่าง Case Study จาก Friday Digital
                                 ที่มา: facebook.com/frdgco
  • E-Book 

หนังสือที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบดิจิทัลหรือรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถอ่านได้บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต โดยเนื้อหาของ E-Book สามารถเป็นได้ทั้งเชิงความรู้ นวนิยาย ธุรกิจ การพัฒนาตัวเอง หรืออื่นๆ ซึ่งข้อดีของ E-Book คือ สะดวกต่อการพกพา สามารถอ่านได้ทุกที่ทุกเวลาหากทำการดาวน์โหลดไว้ รวมถึงสามารถค้นหาข้อมูลและหนังสือที่ต้องการอ่านได้อย่างรวดเร็ว 

ตัวอย่าง E-Book จาก Friday Digital
                               ตัวอย่าง E-Book จาก Friday Digital
                                  ที่มา: facebook.com/frdgco
  • Webinar

กิจกรรมสัมมนาออนไลน์ที่จัดขึ้นในรูปแบบเชิงวิทยากร โดยผู้เข้าร่วมสามารถเข้าชมและเข้าร่วมกิจกรรมได้ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ โดยที่จะมีผู้บรรยายหรือผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อต่างๆ มาบรรยาย และผู้เข้าร่วมสามารถถาม-ตอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของคอนเทนต์ที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเรียลไทม์

ตัวอย่าง Webinar จาก JMAT
                                  ตัวอย่าง Webinar จาก JMAT
                                   ที่มา: marketingthai.or.th
  • Podcast

คอนเทนต์ที่อยู่ในรูปแบบของเสียง มักเป็นการบันทึกเสียงไว้ก่อนแล้ว โดยคอนเทนต์เหล่านี้สามารถเป็นได้ทั้งข่าวสาร การสัมภาษณ์ หรือแม้กระทั่งการเล่าเรื่องราวต่างๆ ซึ่งสามารถเข้าถึงและฟังได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมใดๆ 

ตัวอย่าง Podcast จาก Friday Digital
                           ตัวอย่าง Podcast จาก Friday Digital
                             ที่มา: podcast.fridaydigital.co
  • Newsletter

จดหมายเชิงข่าวสารที่ส่งไปยังกลุ่มผู้ติดตามหรือสมาชิกผ่านช่องทางอีเมล โดยมักจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจ หรืออาจเป็นข่าวสาร/โปรโมชันที่น่าสนใจ เช่น ข่าวเปิดตัวสินค้าใหม่ อัปเดตเทรนด์ธุรกิจประจำปี หรือโปรโมชันส่วนลดพิเศษ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ได้รับจดหมายสามารถกดยกเลิกการรับจดหมายได้ทุกเมื่อที่ต้องการ 

ตัวอย่าง Newsletter จาก KTC
                        ตัวอย่าง Newsletter จาก KTC
                                   ที่มา: ktc.co.th

แบ่งตามวัตถุประสงค์ (Objective)

  • เพื่อการให้ข้อมูลและความรู้ (Informative Content)

คอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลหรือความรู้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย ส่วนมากเนื้อหาของคอนเทนต์ประเภทนี้จะมีความเชื่อมโยงกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจ เพื่อเป็นการทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจและเชื่อมั่นในธุรกิจแบบทางอ้อม โดยอาจอยู่ในรูปแบบของรูปภาพ วิดีโอ หรือบทความก็ได้

ตัวอย่าง Informative Content จาก Friday Digital
                  ตัวอย่าง Informative Content จาก Friday Digital
 .                              ที่มา: facebook.com/frdgco
  • เพื่อความบันเทิง (Entertainment Content)

คอนเทนต์ที่ให้ความบันเทิงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยส่วนใหญ่มักเป็นคอนเทนต์ที่อิงกับกระแสสังคมที่ผู้คนพูดถึงกันในช่วงนั้นๆ หรือที่มีชื่อเรียกว่า Real-time Content ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่จะช่วยให้แบรนด์ดูมีความทันสมัย ตามทันกระแส และดูมีชีวิตชีวามากขึ้น 

ตัวอย่าง Real-time Content (Entertainment Content) จากแบรนด์รองเท้านันยาง
       ตัวอย่าง Real-time Content (Entertainment Content) จากนันยาง
                        ที่มา: facebook.com/NanyangLegend
  • เพื่อโน้มน้าวใจ (Persuasive Content)

คอนเทนต์ที่มุ่งโน้มน้าวกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความสนใจและอยากซื้อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ โดยส่วนใหญ่คอนเทนต์จะพูดถึงข้อดีหรือจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ หรือเป็นการมอบโปรโมชันส่วนลดเพื่อดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการขายแบบตรงๆ แต่คอนเทนต์อีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นเหมือนวิธีการขายแบบอ้อมๆ คือการ Tie-in ซึ่งเป็นการขายผลิตภัณฑ์แบบแนบเนียนจนให้กลุ่มเป้าหมายเกินความสนใจแบบไม่รู้ตัว

ตัวอย่าง Persuasive Content จากแบรนด์ Robinson
                  ตัวอย่าง Persuasive Content จากแบรนด์ Robinson
                                    ที่มา: home.kapook.com
  • เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ (Interactive Content)

คอนเทนต์ที่ต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย อาจอยู่ในรูปแบบของการถาม-ตอบ (Q&A) หรือกิจกรรมร่วมสนุกตอบคำถามกับแบรนด์ หรืออาจอยู่ในรูปแบบของการไลฟ์สดที่สามารถโต้ตอบกับกลุ่มเป้าหมายได้ในทันที โดยคอนเทนต์ประเภทนี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเป้าหมายกับแบรนด์ ทำให้แบรนด์ดูมีชีวิต สามารถที่จะตอบโต้กับกลุ่มเป้าหมายได้

ตัวอย่าง Interactive Content จากแบรนด์ Bitkub
                     ตัวอย่าง Interactive Content จากแบรนด์ Bitkub
 .                          ที่มา: facebook.com/bitkubofficial

ข้อดีของการทำ Content Marketing

  • สร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ให้กับธุรกิจ 

การสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าและน่าสนใจต่อกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถจดจำและรู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสที่กลุ่มเป้าหมายจะแชร์คอนเทนต์อีกด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มการรับรู้ต่อแบรนด์ไปยังผู้คนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

  • สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย  

Content Marketing ถือเป็นเครื่องมือการตลาดที่สามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายผ่านคอนเทนต์ที่เผยแพร่ โดยคอนเทนต์ที่อยู่ในรูปแบบถาม-ตอบ (Q&A) หรือการไลฟ์สด (Live Streaming) ถือเป็นวิธีที่ช่วยแบรนด์ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

  • ทำให้แบรนด์ดูมีชีวิตชีวา

คอนเทนต์ที่มีความสดใหม่และอัปเดต จะช่วยทำให้แบรนด์ดูมีชีวิตชีวาและมีความทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้คอนเทนต์ที่มีสีสันสดใส น่าสนใจ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการทำให้แบรนด์ดูมีชีวิตชีวาเช่นกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้แบรนด์ต้องมีการทำ Content Marketing อย่างสม่ำเสมอด้วย

  • เพิ่มความน่าเชื่อถือต่อแบรนด์และสร้างความไว้ใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย  

คอนเทนต์ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อกลุ่มเป้าหมายจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือต่อแบรนด์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่มีข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ ยิ่งเป็นการเพิ่มความไว้ใจต่อแบรนด์ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

  • เพิ่มลูกค้าและโอกาสในการขาย 

คอนเทนต์ที่สร้างคุณค่าให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ ย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสในการดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น เนื่องจากหากกลุ่มเป้าหมายเกิดการรู้จักและสนใจแบรนด์จากคอนเทนต์ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น แน่นอนว่าย่อมมีโอกาสที่กลุ่มเป้าหมายจะกลายมาเป็นลูกค้าได้ในอนาคต

  • ลดค่าใช้จ่ายการตลาดในระยะยาว  

Content Marketing ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแบรนด์ โดยการจะสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งได้นั้นต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนาน แต่หากแบรนด์มีความแข็งแกร่งแล้วจะส่งผลในเชิงบวกมากมาย เช่น สร้างรายได้ในระยะยาว กลุ่มเป้าหมายจดจำแบรนด์ได้เป็นอย่างดี สินค้าหรือบริการดูมีมูลค่ามากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายการตลาดในระยะยาว เป็นต้น

ลักษณะของการทำ Content Marketing ที่ดี

จะเห็นได้ว่าการทำ Content Marketing นั้นมีข้อดีมากมายหลายประการ แต่การที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์เช่นนั้นทุกประการไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นผมจึงอยากพาทุกคนมาทำความเข้าใจว่าลักษณะของ “คอนเทนต์” ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ 

  • เจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน
  • เนื้อหามีความสดใหม่และอัปเดต
  • อ่านง่ายและจัดวางอย่างเป็นระเบียบ
  • สามารถเข้าใจได้ง่าย
  • ใช้คำถูกต้องและชัดเจน          
  • ทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
  • มีองค์ประกอบของคอนเทนต์ (เนื้อหา ภาพประกอบ ฯลฯ) ที่น่าดึงดูด
  • ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้
  • เนื้อหาไม่ขัดต่อหลักศีลธรรม
  • มี “คุณค่า” ต่อกลุ่มเป้าหมาย


6 ขั้นตอนที่ควรรู้ก่อนเริ่มต้นทำ Content Marketing 

  1. กำหนดเป้าหมาย (Goal)

ก่อนที่จะเริ่มต้นทำ Content Marketing จำเป็นต้องทำการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการจะบรรลุอะไรจากการทำ Content Marketing เช่น เพื่อเพิ่มยอดขาย เพื่อสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ หรือเพื่อการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย เมื่อกำหนดเป้าหมายได้แล้ว ก็จะสามารถกำหนดแนวทางของคอนเทนต์ที่เหมาะสมเพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. วิเคราะห์ตลาด (Analyze)

การวิเคราะห์ตลาดจะช่วยให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายและปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังสามารถช่วยให้รู้ถึงแนวทางในการสร้างคอนเทนต์ที่เหมาะสมในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้

  1. วางแผนคอนเทนต์ (Plan)

หลังจากที่ได้มีการกำหนดเป้าหมายและวิเคราะห์ตลาดแล้ว จะต้องทำการวางแผนแนวทางของคอนเทนต์ที่จะใช้สื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย การวางแผนคอนเทนต์จะช่วยให้สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด

  1. เลือกแพลตฟอร์ม (Select)

การเลือกแพลตฟอร์มเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนที่จะเริ่มต้นทำ Content Marketing เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มจะมีลักษณะ จุดเด่น และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป การเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและรูปแบบของคอนเทนต์ จะช่วยให้คอนเทนต์เผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากคอนเทนต์อยู่ในรูปแบบของวิดีโอ อาจจะต้องใช้แพลตฟอร์มอย่าง YouTube หรือ Vimeo ในการเผยแพร่คอนเทนต์ แต่หากคอนเทนต์อยู่ในรูปแบบของบทความ ก็อาจจะต้องใช้แพลตฟอร์มอย่าง Medium, LinkedIn หรือเว็บไซต์ของธุรกิจเอง เป็นต้น

  1. สร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าต่อกลุ่มเป้าหมาย (Value)

“คอนเทนต์” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำ Content Marketing คอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจและมีคุณภาพจะช่วยเพิ่มโอกาสในการที่กลุ่มเป้าหมายจะทำการแชร์คอนเทนต์นั้นไปยังเพื่อนและคนอื่นๆ อีกทั้งยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือต่อแบรนด์ให้กับกลุ่มเป้าหมายด้วย

  1. วัดผลและปรับปรุง (Evaluate)

การวัดผลจะช่วยให้เห็นภาพว่าคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน และช่วยให้เข้าใจถึงพฤติกรรมในการเสพคอนเทนต์ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถนำผลลัพธ์ที่วัดนี้ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงคอนเทนต์ในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น โดยสามารถเลือกใช้เครื่องมือวัดผลต่างๆ เช่น Google Analytics เพื่อวัดผลการเข้าชมเว็บไซต์ หรือ Social Media Analytics ต่างๆ เพื่อวัดผลคอนเทนต์ที่ถูกเผยแพร่บนช่องทางโซเชียลมีเดีย


เครื่องมือตัวช่วยสำหรับการทำ Content Marketing

ในการที่จะทำ Content Marketing ให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด อาจจะต้องอาศัยเครื่องมือบางอย่างที่สามารถช่วยให้การสร้างสรรค์ วัดผล และพัฒนาคอนเทนต์เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น เพราะฉะนั้นผมจึงอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับเครื่องมือต่างๆ ที่จะเปรียบเสมือนกับผู้ช่วยในการทำ Content Marketing ดังนี้ครับ

Content Management System (CMS)

เครื่องมือที่ช่วยในการสร้าง จัดการ แก้ไข และเผยแพร่คอนเทนต์บนเว็บไซต์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมหรือการออกแบบเว็บไซต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการคอนเทนต์เลย ตัวอย่างเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น WordPress, Drupal และ Magento เป็นต้น 

Content Marketing Platforms 

เครื่องมือที่ช่วยในการวางแผนและจัดการกับคอนเทนต์ที่ใช้ในการทำ Content Marketing โดยรวม ซึ่งช่วยให้สามารถวางแผนการสร้างและจัดการคอนเทนต์ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น CoSchedule หรือ ClearVoice เป็นต้น

Social Media Management Tools

เครื่องมือที่ช่วยในการจัดการคอนเทนต์และโพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยให้สามารถจัดการกับการโพสต์บนแพลตฟอร์มต่างๆ ในเวลาเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น Hootsuite, Buffer และ Sprout Social เป็นต้น

Keyword Research Tools

เครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์และค้นหาคำสำคัญ (Keyword) ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างคอนเทนต์ โดยเป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์และเลือกใช้คำสำคัญที่เหมาะสมและมีผลต่อการทำ SEO ให้เกิดประสิทธิภาพ ตัวอย่างเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น Google Keyword Planner, Ahrefs และ SEMrush เป็นต้น

Analytics Tools 

เครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์และติดตามผลการทำ Content Marketing เพื่อให้สามารถปรับปรุงกลยุทธ์ในการสร้างคอนเทนต์ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น Google Analytics และ Buzzsumo เป็นต้น

Graphic Design Tools 

เครื่องมือที่ช่วยในการสร้างภาพประกอบและกราฟิกสำหรับคอนเทนต์ ซึ่งช่วยในการออกแบบภาพประกอบและกราฟิกให้สวยงาม น่าดึงดูด และมีคุณภาพ ตัวอย่างเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น Canva หรือ Adobe Creative Suite เป็นต้น

Video Tools 

เครื่องมือที่ช่วยในการสร้างและจัดการคอนเทนต์ที่อยู่ในรูปแบบวิดีโอให้น่าสนใจและมีคุณภาพ ตัวอย่างเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น Wistia, Vidyard หรือ Vimeo เป็นต้น

ตัวอย่างการทำ Content Marketing จากแบรนด์ดังระดับโลก

  • Coca-Cola 

Coca-Cola ได้มีการทำ Content Marketing โดยใช้โฉมเรื่อง "Share a Coke" ในการสร้างคอนเทนต์ที่สื่อถึงความเป็นกันเองและสร้างความสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างมาก โดยให้ลูกค้าสามารถสร้างของขวัญพิเศษด้วยการสร้างสติกเกอร์ที่ประกอบไปด้วยชื่อของเพื่อนหรือคนรักเพื่อมอบให้เป็นของขวัญในช่วงเทศกาลต่างๆ

ตัวอย่างการทำ Content Marketing จากแบรนด์ Coca-Cola
             ตัวอย่างการทำ Content Marketing จากแบรนด์ Coca-Cola
                                 ที่มา: marketingmag.com
  • Nike

Nike เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่ใช้คอนเทนต์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องกีฬาและสุขภาพในการสร้างความสนใจต่อกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น การใช้คอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอและช่องทางโซเชียลมีเดียของนักกีฬาชื่อดังอย่าง LeBron James ในการนำเสนอสินค้าและสร้างความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย

ตัวอย่างการทำ Content Marketing จากแบรนด์ Nike
                  ตัวอย่างการทำ Content Marketing จากแบรนด์ Nike
                        ที่มา: youtube.com/nike/LeBronJames
  • Apple

Apple ได้มีการทำ Content Marketing ที่นำเสนอคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับความทันสมัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสร้างความสนใจต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้คอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอที่แสดงการใช้งานและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ของ Apple และคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น การนำเสนอคอนเทนต์ที่สื่อถึงความสามารถของเทคโนโลยีผู้ช่วยเสียงอัจฉริยะที่มีชื่อเรียกว่า Siri เป็นต้น

ตัวอย่างการทำ Content Marketing จากแบรนด์ Apple
          ตัวอย่างการทำ Content Marketing จากแบรนด์ Apple
                                ที่มา: apple.com/siri

สรุป

Content Marketing คือการทำการตลาดที่เน้นการสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่มีคุณค่าต่อกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ โดยสามารถออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ตามลักษณะและวัตถุประสงค์ ซึ่งการทำ Content Marketing นั้นมีข้อดีอยู่หลายประการ เช่น สร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ให้กับธุรกิจ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มความน่าเชื่อถือต่อแบรนด์และสร้างความไว้ใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น นอกจากนี้การทำ Content Marketing ยังสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจอีกด้วย เนื่องจากหากกลุ่มเป้าหมายสนใจ ชื่นชอบ หรือรู้สึกได้รับประโยชน์จากคอนเทนต์ที่ธุรกิจได้สร้างสรรค์ขึ้น ก็ถือว่าธุรกิจได้ทำการส่งมอบ “คุณค่า” ผ่านคอนเทนต์ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้สำเร็จ 

หวังว่าผู้อ่านทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไปไม่มากก็น้อยนะครับ :) 💙



ปรึกษาการทำการตลาดออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญจาก Friday Digital เลย!

Email: hello@fridaydigital.co
Phone: 065-962-2064
Location: อาคารอัมรินทร์ทาวเวอร์ เลขที่ S5056-5057 ชั้น 5 เลขที่ 496-502 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ประเทศไทย